อาการเมารถ หรือ Motion Sickness เป็นอาการที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้โดยสาร บางคนอาจเมารถง่ายมาก แม้แต่การนั่งรถโดยสารประจำทางเพียงสั้นๆ ก็ยังรู้สึกไม่สบาย แต่บางคนกลับนั่งรถนานหลายชั่วโมงก็ไม่เป็นอะไรเลย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น บทความนี้ Sanook Auto มีคำตอบมาฝากกัน
อาการเมารถเกิดจากอะไร?
อาการเมารถ เกิดจากความขัดแย้งของประสาทสัมผัสต่างๆ ของร่างกาย โดยมีสาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ตาเห็นกับสิ่งที่หูชั้นในรับรู้ เมื่อเรานั่งรถ ตาของเราจะเห็นว่าสิ่งของต่างๆ ภายในรถอยู่นิ่ง แต่หูชั้นในกลับรับรู้ว่าร่างกายกำลังเคลื่อนที่ ทำให้สมองสับสนและส่งสัญญาณไปยังร่างกายว่าเกิดความผิดปกติขึ้น จึงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และวิงเวียนศีรษะนั่นเอง
ทำไมบางคนถึงมีอาการเมารถมากกว่าคนอื่น?
สาเหตุที่บางคนมีอาการเมารถได้มากกว่าคนอื่นเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่
-
พันธุกรรม - การมีประวัติครอบครัวมีอาการเมารถบ่อย จะทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะเมารถได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
-
อายุ - เด็กเล็กและผู้สูงอายุจะมีโอกาสเป็นโรคเมารถได้มากกว่าผู้ใหญ่
-
เพศ - ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคเมารถมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือน หรือช่วงตั้งครรภ์
-
ปัญหาสุขภาพ - ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว เช่น ไมเกรน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคเกี่ยวกับหูชั้นใน จะมีโอกาสเกิดภาวะเมารถได้ง่ายกว่าคนปกติ
-
ปัจจัยอื่นๆ - ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การกินอาหารไม่ตรงเวลา หรือการดื่มแอลกอฮอล์ เหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดอาการเมารถได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
5 วิธีลดอาการเมารถ
- พยายามเลือกที่นั่งที่นิ่งที่สุด เช่น เบาะนั่งตอนหน้าหรือนั่งใกล้หน้าต่าง
- มองออกไปนอกหน้าต่าง เช่น เส้นขอบฟ้า จะช่วยให้สมองประมวลข้อมูลได้สอดคล้องกันมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์ เพราะจะเพิ่มโอกาสทำให้สมองเกิดความสับสนมากขึ้น
- ทานอาหารเบาๆ ไม่ทานจนอิ่มเกินไป และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุน
- ทานยาแก้เมารถ จะช่วยบรรเทาภาวะเวียนศีรษะลงได้หากจำเป็น
เมื่อทราบเช่นนี้แล้วหากใครมีอาการเมารถเป็นประจำ ก็ลองเลือกวิธีที่เหมาะสมนำไปใช้ดูนะครับ